Wednesday, 3 July 2024
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

'รมว.ปุ้ย' เร่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เอื้อ 'คุณภาพชีวิตคน-การค้ายุคใหม่' หนุน 'ชุมชน-ภาคอุตสาหกรรม' ใช้ 'มาตรฐาน' ลดโลกร้อน

(12 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาภายใต้กิจกรรม สมอ.สัญจร ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาว่า...

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน พร้อมไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยถือเป็นวาระแห่งชาติที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการ และตนได้มอบเป็นนโยบายสำคัญให้หน่วยงานในสังกัดเร่งรัดดำเนินการให้สอดคล้องกับภารกิจและบริบทของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในด้านกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน และสิทธิประโยชน์ ตลอดจนกองทุนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ 'มาตรฐาน' ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขันทางการค้าในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานสินค้าชุมชน / มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการลดโลกร้อน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับกฎกติกาใหม่ของการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า 

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงต้องเร่งดำเนินการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคชุมชนฐานราก ภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน พร้อมๆ ไปกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วน

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานชุมชนไปแล้ว จำนวน 1,432 มาตรฐาน และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 829 มาตรฐาน ซึ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จำนวน 778  มาตรฐาน และมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) เป็นมาตรฐานระบบการจัดการในองค์กรอีกจำนวน 47 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรฐานแนวทางการหาปริมาณคาร์บอนฟุตพริ๊นท์ มาตรฐานแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) จำนวน 4 มาตรฐาน 

สำหรับในปี 2567 สมอ. เตรียมประกาศใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เพิ่มอีก  96 มาตรฐาน ซึ่งจะดำเนินการกำหนดมาตรฐานควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมนำมาตรฐานไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และพัฒนาองค์กรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยมีหลักการที่สำคัญคือ ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการผลิตของเสียให้น้อยที่สุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 

ทั้งนี้ ได้เริ่มนำร่องในกิจกรรม สมอ. สัญจร ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีตและซีเมนต์ รวมทั้งผู้ผลิตชุมชน ในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) การใช้ปูนซิเมนต์ไฮโดรลิคแทนปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตชุมชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้พัฒนาในกระบวนการผลิตสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกันต่อไป

นอกจากนี้ ยังให้ความรู้ด้านการมาตรฐานแก่เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการมาตรฐาน ตระหนักถึงความสำคัญ สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน และเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

"ทั้งนี้ สมอ. จะเดินสายให้ความรู้ผู้ประกอบการ ร้านจำหน่าย ผู้ผลิตชุมชน และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถติดตามข่าวสารด้านการมาตรฐาน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ www.tisi.go.th หรือ http://www.facebook.com/tisiofficial หรือ โทร. 0 2430 6833 ต่อ 2310" นายวันชัยฯ กล่าว

'รมว.ปุ้ย' กางผลลัพธ์ส่งออก 'ฮาลาลไทย' แตะ 216,698 ล้านบาท โต 2.6% เชื่อ!! ยังไปได้อีกไกล หลัง 'ก.อุตฯ' เปิดฉากรุกตลาดกำลังซื้อสูงต่อเนื่อง

(27 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสถาบันอาหาร, นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร, นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, นายพิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พร้อมทั้งผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยแก่คณะรัฐมนตรี ณ บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย พร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาลหวังส่งเสริมและขยายตลาดฮาลาลให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค

นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ศักยภาพอุตสาหกรรม ฮาลาลแก่คณะรัฐมนตรี รวมถึงเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมฮาลาลในตลาดโลก ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยในตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงปี 2567 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด ซึ่งคาดว่าในปี 2567 การเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด จะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.5 โดยในส่วนของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.1

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) จำนวน 216,698 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาล โดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ และมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ซึ่งยังมีโอกาสเพิ่มสัดส่วนการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อสูงได้อีกมาก

ทั้งนี้ กิจกรรมประชาสัมพันธ์ดังกล่าว จะเป็นการกระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทยพร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาล และมุ่งหวังการส่งเสริมและขยายตลาดฮาลาลให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค โดยรูปแบบการจัดงาน ประกอบด้วยการจัดคูหาเพื่อแสดงตัวอย่างแสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล อาทิ อาหาร, เครื่องสำอาง, เครื่องนุ่งหุ่ม, เสื้อผ้ามุสลิม, การจัดแสดงสาธิตการทำอาหาร 'เนื้อไทยแองกัสสิชล ฮาลาล ย่างซอสคั่วกลิ้งและใบเหลียงผัดกระเทียม' โดยเชฟชุมพล (นายชุมพล แจ้งไพร) ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ การจัดแสดงอาหารบนเครื่องบินจาก TG Inflight Catering Halal Food Center โดย ครัวการบิน การบินไทย รวมถึงการให้ข้อมูลที่สำคัญของโครงการศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Thai Halal Industry Center)

'รมว.ปุ้ย' ย้ำ!! รัฐหนุนเต็มที่ ลงทุนผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในไทย ต่อเนื่องภารกิจ ดันไทยฮับผลิตแบตฯ อีวีแห่งอาเซียน

(4 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้คณะผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เข้าพบ เพื่อรับทราบแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาการลงทุนสร้างโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย รวมทั้งการสร้างซัพพลายเชนเพื่อให้ไทยเป็นฮับการผลิตแบตเตอรี่ของภูมิภาคอาเซียน โดยระบุว่า...

รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้เปิดการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ 17 ชิ้น โดยเฉพาะแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ที่จะได้รับสิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนไทย, ญี่ปุ่น, จีน และยุโรป เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ขณะเดียวกันยังมีมาตรการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการเข้าร่วมมาตรการ EV3 อีกด้วย 

ส่วนการสร้าง Supply Chain ของแบตเตอรี่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นพี่เลี้ยงส่งเสริมด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องตลอดซัพพลายเชน มีการพิจารณามาตรการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมาตรการที่เกิดขึ้นเป็นการเอื้อต่อการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายส่งเสริมกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการหารือทราบว่าบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กำลังวางแผนหาพาร์ตเนอร์และแหล่งผลิตในประเทศไทย โดยเป้าหมายคือพัฒนาบริษัทในพื้นที่และสนับสนุนรัฐบาลไทยในการรักษามาตรฐาน ขณะเดียวกันได้เปิดตัวสายการผลิตและในอนาคตก็พร้อมที่จะเปิดการอบรมนักศึกษาไทยให้เรียนรู้จากเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย ดังนั้น จึงอยากให้มั่นใจว่านโยบายรัฐบาลให้การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ซึ่งล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของมาตรการสนับสนุนผู้นำเข้า ผู้ทดสอบ และการรีไซเคิล

“วันนี้ ประเทศไทยเรามีความน่าสนใจในหลายเรื่อง ทั้งบริษัทต่าง ๆ ที่มาตั้งฐานการผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทยมากขึ้น และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เรายังได้ออกมาตรการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการรีไซเคิลแบตเตอรี่ เพื่อให้เกิดการดูแลทั้งระบบของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

สำหรับการหารือร่วมกันระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มีคณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย อาทิ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

'รมว.ปุ้ย' ชวนคนไทยซื้อหาสินค้ามาตรฐาน 'สมอ.' รับประกันราคาถูกกว่าท้องตลาด 25-29 มี.ค. ณ สมอ.

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ‘มหกรรมสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานราคาโรงงาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี การสถาปนาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม’ ว่า ตลอดระยะเวลา 55 ปี ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ดำเนินงานด้านการมาตรฐานของประเทศ เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนนำการมาตรฐานไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยจากการใช้สินค้าด้วยการกำกับ ดูแล คุณภาพของสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด และทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. มุ่งมั่นดำเนินงานด้านการมาตรฐานเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ตามภารกิจที่สำคัญทั้งการกำหนดมาตรฐานที่ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การตรวจสอบและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐานของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

ตลอดระยะเวลา 55 ปี สมอ. ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรม และคุ้มครองประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบัน สมอ.ได้พัฒนาการให้บริการผู้ประกอบการและประชาชนด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยในปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ สมอ. มีการดำเนินงานมาครบรอบ 55 ปี ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 จึงได้จัดงาน ‘มหกรรมสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานราคาโรงงาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี การสถาปนาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม’ ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ สมอ. ครบรอบ 55 ปี และสืบทอดเจตนารมณ์ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีมาตรฐาน ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยนำผู้ประกอบการกว่า 50 ราย 92 บูธ ที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน มอก. มาร่วมออกร้านจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี มีมาตรฐาน ในราคาโรงงาน ซึ่งถูกกว่าท้องตลาด 20 - 50% ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องซักผ้า พัดลม ทีวี ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น เตาไมโครเวฟ เตาปิ้งย่าง กระทะไฟฟ้า ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม ลำโพง เครื่องเสียง หลอดไฟ โคมไฟ ปลั๊กพ่วง พาวเวอร์แบงค์ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมี รองเท้า อุปกรณ์กีฬา ภาชนะเมลามีน ภาชนะพลาสติก ภาชนะเทฟลอน ของเล่น หมวกกันน็อก หน้ากากอนามัย เครื่องกรองน้ำดื่ม น้ำตาลทราย รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ และสินค้า OTOP ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และงานบริการที่ได้รับการรับรอง มอก. S จึงขอเชิญชวนประชาชนมาเลือกซื้อสินค้าคุณภาพมาตรฐานภายในงาน รับประกันราคาถูกกว่าท้องตลาด ตั้งแต่วันที่ 25 - 29 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 - 18.00 น. ณ บริเวณโดยรอบอาคาร สมอ. ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ (เยื้องกับโรงพยาบาลรามาธิบดี)

‘รมว.ปุ้ย-SME D Bank' ผนึกพันธมิตร 'ภาครัฐ-มหาวิทยาลัย' ปั้นผู้ประกอบการยุคใหม่เปี่ยมศักยภาพ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 

เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 'ส่งเสริมและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs พร้อมเข้าสู่แหล่งทุนควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน' ระหว่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดย นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดย ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดย ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการสำนักงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดย ดร.สุพัตรา จันทนะศิริ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ณ อาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ สามารถปรับตัวตามเทรนด์โลกปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังเตรียมพร้อมเข้าถึงแหล่งทุนได้ด้วย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพ ผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นรากฐาน จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมกันเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND  

“กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภายใต้กำกับ มุ่งเน้นสร้างประโยชน์แก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยแนวคิด 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' หมายถึง 'รื้อ ลด ปลด' สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการให้มากที่สุด ควบคู่กับ 'สร้างสิ่งใหม่ๆ' ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการสร้าง 'ความรู้' เพราะเมื่อมีความรู้แล้ว จะทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ และใช้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญไม่ว่าจะมีวิกฤตใด ๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จะปรับตัว ก้าวตามทัน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือผู้ที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งความร่วมมือระหว่างธนาคารกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ จะนำความเชี่ยวชาญและศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน มาเชื่อมโยงให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยครบวงจรอย่างไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอียุคใหม่สู่การเป็น Smart SMEs ตั้งแต่การเติมความรู้ด้านการเงิน หรือ Financial Literacy ทักษะการบริหารธุรกิจ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่อยอดธุรกิจ และการเตรียมพร้อมเข้าสู่แหล่งทุน 

ทั้งนี้ เมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อมแล้ว และต้องการเงินทุน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจาก SME D Bank ที่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อไว้รองรับ ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่กับได้รับการพัฒนา ผ่านแพลตฟอร์ม 'DX by SME D Bank' (dx.smebank.co.th) ช่วยผู้ประกอบการต่อยอดยกระดับธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนั้น ยังได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการภาครัฐต่าง ๆ ที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มโอกาส ขยายตลาดและผลักดันเข้าถึงนวัตกรรมสมัยใหม่ด้วย 

'รมว.ปุ้ย' ยกพล 'ดีพร้อม' เยือนกลุ่มจังหวัด 'นครชัยบุรินทร์' เติมศักยภาพสินค้าชุมชน ตอบโจทย์กติกาสากล สร้างรายได้ยั่งยืน

(1 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 'นครชัยบุรินทร์' (นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์) ตรวจเยี่ยมกิจกรรม สมอ. สัญจร ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมเซ็นทาราโคราช 

พร้อมกันนี้ ยังได้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม SME กลุ่มคอนกรีตและวัสดุก่อสร้าง ผู้ผลิตชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมกว่า 500 คน และมอบใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนแก่ผู้ผลิตชุมชน (มผช.) จำนวน 9 ราย ใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) แก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 9 ราย และใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 5 ราย

นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' โดยจุดที่ 1 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ เทศบาลตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรของที่ระลึกจากดินเผา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 200 คน จุดที่ 2 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมี การอบรมในหลักสูตรการแปรรูปอาหาร การทำลูกชิ้น การทำน้ำจิ้มลูกชิ้น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจุดนี้ประมาณ 200 คน

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สอดรับกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน, การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม, การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงจากต้นทุนในชุมชน ทั้งต้นทุนทางวัฒนธรรมและวัตถุดิบในท้องถิ่น พร้อมพัฒนาทักษะอาชีพเสริม ผนวกกับวิชาการอุตสาหกรรมให้เข้ากับวิถีชุมชน ให้กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำมีมาตรฐานมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคง ให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ 

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพทั้ง 2 จุดครั้งนี้ เปรียบเสมือนเวทีสำหรับการฝึกฝนทักษะอาชีพ ทั้งหลักสูตรของที่ระลึกจากดินเผา การแปรรูปอาหารการทำลูกชิ้น น้ำจิ้ม ซึ่งมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมประมาณ 400 คน ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ เรียนรู้ทักษะใหม่ นำไปต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จะเป็นพลังขับเคลื่อนนำพาพี่น้องประชาชนในกลุ่มจังหวัดฯ ก้าวสู่ความสำเร็จและความมั่นคง

ทั้งนี้ในส่วนของสำหรับการลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ครั้งนี้มี 3 ประเด็น คือ 

1) การพัฒนาขีดความสามารถเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร 
2) การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การค้าชายแดนและผลิตภัณฑ์ไหม 
และ 3) การยกระดับคุณภาพชีวิต 

โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ 1 การพัฒนาขีดความสามารถเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร จัดเป็นนิทรรศการโชว์ผลงานให้กับนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) และคณะรัฐมนตรีเยี่ยมชมก่อนเข้าการประชุม 

ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้นำเสนอ 'การพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังโคราช ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ตามโมเดล BCG' ผ่านกิจกรรมนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังด้วยผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้โรงงานอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง โดยนำของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสำปะหลังโคราชสู่ความยั่งยืนด้วย BCG และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างประโยชน์แก่ประชาชนและสนับสนุนการผลักดันอุตสาหกรรมหมุนเวียน (Circular) ที่มีศักยภาพให้ต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการใช้นวัตกรรมนี้คาดว่าจะเพิ่มทั้งคุณภาพและปริมาณหัวมันสำปะหลังเข้าสู่โรงงานได้ถึง 10% และสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่เพิ่มขึ้น 1.3 พันล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันอาโวคาโด และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ของบริษัท บริบูรณ์ฟาร์ม จำกัด อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่ผ่านกิจกรรมพัฒนามาตรฐานสำหรับธุรกิจเกษตรแปรรูปเป้าหมาย ภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการได้รับความรู้การบริหารธุรกิจแบบครบวงจร เปิดมุมมองการตลาด ต่อยอดนวัตกรรม โดยผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) ได้รับการรับรองมาตรฐาน GHPs และ HACCP ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 50%


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top